ผมติดค้างเรื่องเล่าการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจทางรังสีวิทยา และการรักษาอาการปวดศีรษะให้พวกเราอ่าน เมื่อวานนี้มีเพื่อนคนหนึ่งของผมมีอาการปวดศีรษะมาก กินยาแก้ปวดชนิดที่แรงแล้วยังไม่หายปวด ก็เลยโพสลงเฟซบุ๊ก หลังจากเขาไปนอนมาแล้ว ตื่นขึ้นมาผมคิดว่าอาการคงดีขึ้น ไม่ได้ถามต่อ เลยไม่ทราบข้อมูลแน่ชัด ผมหวังว่าเขาคงไม่ได้เป็นโรคอะไรที่ร้ายแรง
ในเรื่องอาการปวดศีรษะ ผมพบว่า มีคนไข้หลัก ๆ อยู่สองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่กลัวเรื่องอาการปวดศีรษะมากกลัวจะเป็นโรคร้ายแรง กลุ่มนี้จะคิดว่าตนเองเป็นโรคที่อาจถึงขั้นเสียชีวิต เกิดความพิการหรือเป็นโรคเรื้อรังที่จะมีอาการแย่ลงและรักษาไม่หายขาดจึงมีความคาดหวังสูงมากและมีความต้องการที่จะตรวจทุกอย่างที่ทำให้ได้การวินิจฉัยที่ชัดเจน ส่วนกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่ไม่กลัวอาการปวดศีรษะกลุ่มนี้มีทั้งคนที่คิดว่าตนเองไม่ได้เป็นอะไรมากขอแค่ได้ยาแก้ปวดให้หายปวดก็พอ แต่หากแพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคที่ร้ายแรงเขาอาจจะมีความคิดเหมือนกลุ่มที่หนึ่งได้เช่นกัน และในกลุ่มนี้ยังมีคนที่คิดว่าถึงเป็นโรคร้ายแรงก็ไม่กลัวอีกเช่นกัน กลุ่มนี้ความคาดหวังจะไม่สูงเท่ากับกลุ่มแรกขอให้ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าไม่ใช่โรคร้ายแรงเขาเหล่านั้นจะรู้สึกดีใจมาก ที่ผมแบ่งกลุ่มคนไข้นั้น ผมพบว่าในการตรวจทางห้องปฎิบัติการหรือการตรวจทางรังสีของคนไข้ที่มีอาการปวดศีรษะหลายครั้งคนไข้จะได้รับการตรวจตามความคาดหวังของคนไข้ทั้ง ๆ ที่การตรวจนั้นอาจจะเกินความจำเป็น หรือการไม่ตรวจเพิ่มเติมในคนไข้ที่กลุ่มที่สองที่มีความคาดหวังไม่สูงเท่า โดยอาจจะเกิดจากการตรวจร่างกายที่ไม่ละเอียดทำให้ไม่นึกถึงโรคที่ร้ายแรงที่ต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือตรวจทางรังสีวิทยาเพิ่มเติม หรือ ทราบความคาดหวังของคนไข้ตั้งแต่ต้นจึงไม่ได้ส่งตรวจเพิ่มเติม
ในการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือการตรวจทางรังสีวิทยาแต่ละครั้งก่อนที่แพทย์จะส่งตรวจจะต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ในการส่งตรวจเสมอ ยกเว้นในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการตรวจเองซึ่งเรามักจะพบกรณีเช่นนี้บ่อย ๆ ในกลุ่มคนไข้ของโรงพยาบาลเอกชน ข้อบ่งชี้ในการส่งตรวจจะมีทั้งที่ได้จากการซักประวัติ การตรวจร่างกาย หรืออาจจะได้จากผลการตรวจเลือดหรือตรวจทางรังสีวิทยาที่ได้ทำการตรวจไปแล้วก็ได้ ข้อบ่งชี้มีความสำคัญมากทำให้แพทย์ไม่ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์หรือทางรังสีวิทยาอย่างพร่ำเพรื่อเกินความจำเป็น ซึ่งจะเป็นปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งต่อค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขของประเทศ
การตรวจทางห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติในเลือดที่สามารถพบได้และมักจะทำให้ทราบสาเหตุทางอ้อมที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ส่วนการตรวจทางรังสีวิทยา จะมีการตรวจเอ็กซเรย์ธรรมดา การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และการตรวจแบบพิเศษอื่นอีกหลายอย่าง ผมพบว่า คนไข้ส่วนหนึ่งต้องการตรวจเอ็กซเรย์สมอง ความเข้าใจของเขาคือการตรวจเอ็กซเรย์แบบธรรมดา ความจริงแล้วการตรวจเอ็กซเรย์แบบธรรมดาจะดูได้เฉพาะในส่วนของกะโหลกศีรษะที่เป็นกระดูกและโพรงอากาศที่อยู่ในกะโหลกศีรษะ ส่วนอื่น ๆ รวมถึงสมองจะไม่สามารถบอกรายละเอียดได้จากการเอ็กซเรย์แบบธรรมดา หรือแม้แต่กะโหลกศีรษะส่วนที่เป็นกระดูกเองก็ตามหากเกิดอุบัติเหตุแล้วมีกระโหลกศีรษะแตกการตรวจเอ็กซเรย์ธรรมดาอาจจะไม่เห็นตำแหน่งที่แตกก็ได้ ผมพบว่าหลายครั้งการส่งตรวจเอกซเรย์กระโหลกศีรษะจะตรวจในกรณีของผู้ป่วยที่มีอุบัติเหตุที่ศีรษะแต่ตรวจร่างกายหรืออาการของผู้ป่วยปกติซึ่งจะได้รับการส่งตรวจบ่อย ๆ ในกรณีที่ต้องการสร้างความสบายใจและทำตามความต้องการของคนไข้และญาติที่ต้องการตรวจเอกซเรย์ทั้ง ๆ ที่แพทย์ก็ทราบว่ายังไงผลการตรวจออกมาก็ปกติ อย่างไรก็ตามหากแพทย์สงสัยว่ามีกะโหลกศีรษะแตกหรือมีการบาดเจ็บของสมอง ศัลย์แพทย์หรือแพทย์ที่ตรวจที่ห้องฉุกเฉินจะทำการส่งตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองซึ่งเป็นการดูในรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น
การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือที่คนทั่วไปรู้จักคือ CT scan และการตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือตัวย่อที่เราเคยได้ยินก็คือ MRI เป็นการตรวจที่สามารถบอกรายละเอียดของสมองได้ดี โดยเฉพาะการตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะทราบรายละเอียดความผิดปกติของสมองได้เป็นอย่างดีที่จะสามารถบอกได้อย่างละเอียดว่าเรามีโรคร้ายแรงในสมองหรือไม่ แต่ถึงอย่างไรการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าก็มีข้อจำกัดเพราะต้องใช้เวลาตรวจนานจึงไม่เหมาะกับคนไข้ที่มีภาวะฉุกเฉินที่มีอาการไม่คงที่และไม่เหมาะกับคนที่มีโลหะอยู่ภายในร่างกายเพราะจะเกิดการบาดเจ็บจากแรงดึงดูดของคลื่นแม่เหล็ก นอกจากนี้ยังไม่เหมาะกับคนที่กลัวที่แคบอีกด้วยเพราะลักษณะการตรวจจะต้องเข้าไปในอุโมงค์ กลุ่มคนที่มีข้อจำกัดเหล่านี้จะได้รับการตรวจโดยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองแทนซึ่งสามารถบอกความผิดปกติได้ระดับหนึ่งแต่อาจไม่ดีเท่ากับการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
ในส่วนข้อบ่งชี้ในการตรวจทางรังสีวิทยาส่วนหนึ่งจะเป็นอาการที่อยู่ในสัญญาณอันตรายของอาการปวดศีรษะที่ผมเคยนำมาให้อ่านกันและอีกส่วนจะเป็นการตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจร่างกายของแพทย์โดยเฉพาะความผิดปกติจากการตรวจร่างกายระบบประสาทที่ทำให้ทราบการวินิจฉัยตั้งแต่ก่อนส่งตรวจด้วยซ้ำไป การส่งตรวจทางรังสีวิทยาจึงเป็นการยืนยันการวินิจฉัยและมีส่วนสำคัญในการติดตามอาการของโรค
ยังเหลือเรื่องการรักษาอาการปวดศีรษะซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของอาการปวดศีรษะ ว่าง ๆ ผมจะมาเล่าให้ฟังอีกนะคับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น