วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

แผนการสู่ "อิสรภาพทางการเงิน" (11 มิ.ย. 2555)


     วันนี้ผมขอเล่าเรื่องการออมสักนิดครับเพราะรู้สึกว่าช่วงนี้มีคนถามผมบ่อย ๆ เรื่องการบริหารจัดการเงินออม ควรจะออมเงินอย่างไร ออมเงินเท่าไหร่ดี เอาเงินออมไปทำอะไรดี เล่นหุ้นต้องทำอย่างไร เล่นหุ้นตัวไหนดี จริง ๆ ผมอยากจะบอกว่าผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญการออมหรือเป็นเซียนอย่างที่หลายคนเข้าใจ โดยส่วนตัวผมเป็นคนชอบการออมเงิน ผมจึงพยายามศึกษาวิธีการออมและการลงทุนแบบต่าง ๆ จากท่านนักเขียนที่เขียนหนังสือการออมการลงทุนให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ คนที่คิดถึงเรื่องการออมผมคิดว่าคงเข้าใจวัตถุประสงค์ของการออมเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ในอนาคต หลายคนที่ไม่ได้คิดเรื่องการออมอาจจะบอกว่าเขาทำงานไปเรื่อย ๆ ชีวิตมีความสุขได้ไม่ต้องหวังอะไรมากมาย มีครอบครัวมีลูกเลี้ยงดูลูกตามฐานะความเป็นอยู่ พอเกษียณเขาได้เงินบำนาญจากการเป็นข้าราชการบ้าง จากเงินประกันสังคมบ้าง หรือไม่ก็ให้ลูกเลี้ยงดูเขา ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ผมไม่แสดงความเห็นตรงนี้แล้วกันว่าการออมเงินเพื่อความเป็นอยู่ในอนาคตหรือใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ ตามรูปแบบที่คนส่วนใหญ่ทำอยู่แบบไหนดีกว่ากัน
         สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะบอกคือ ผมเป็นปุถุชนคนหนึ่งที่ยังมีรัก โลภ โกรธ หลง ยังมีกิเลส ตัณหา เหมือนกับคนส่วนใหญ่ ผมยังมีความต้องการความสุขสบายในทางโลกอีกหลายอย่างดังนั้นผมจึงต้องออมเงินเพื่อชีวิตในอนาคตของผม หลายคนพูดถึงความสุขที่แท้จริงคือเป้าหมายสูงสุดของเขา การที่จะศึกษาค้นหาและฝึกปฏิบัติเพื่อที่จะได้พบกับความสุขที่แท้จริงมันเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย ถ้ามันเป็นเรื่องง่ายเราคงเห็นคนที่เข้าสู่สภาวะนิพพานและบรรลุอรหันต์มากมาย ถึงอย่างไรการเข้าสู่สภาวะนิพพานก็เป็นเป้าหมายสูงสุดสำหรับชาวพุทธที่ต้องการจะหลุดพ้นและพบกับความสุขที่แท้จริง สำหรับตัวผม ผมจะตั้งใจปฏิบัติตัวอยู่ในกรอบของศีลธรรมจรรยาที่ดีงามของสังคม เป้าหมายเพื่อเข้าสู่สภาวะนิพพานคงมีอยู่ในฐานะของชาวพุทธจะทำได้หรือไม่ว่ากันอีกที เรื่องนี้คงไม่ต่างจากเรื่องการออมที่ต้องมีเป้าหมายสูงสุดซึ่งก็คือการมีอิสรภาพทางการเงิน ความหมายของมันคือการมีเงินใช้จ่ายได้ตลอดแม้ว่าเราไม่ต้องทำงานก็ตาม เอาเป็นว่าผมจะเล่าแนวคิดรวบยอดที่ผมที่ได้ศึกษามาและคิดว่าทุกคนสามารถนำไปใช้ได้จริงก็แล้วกัน
       เมื่อเราตั้งเป้าหมายของการออมเงินคือการมีอิสรภาพทางการเงินได้แล้ว ต่อไปคือการทำตามแผนที่ตั้งไว้ทีละขั้น คำถามแรก ๆ คำถามหนึ่งคือ ควรจะออมเงินเท่าไหร่ดี ซึ่งคนทั่วไปมักจะคิดว่าเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำคือมีเงินเข้าไปก่อน ก่อนจะไปถึงคำตอบของคำถามนั้นผมจะให้เราคิดถึงเงินที่ต้องจ่ายออกไปก่อน ขั้นแรก ให้เราคำนวณก่อนว่าเมื่อเราเกษียณหรือไม่ได้ทำงานแล้วเรามีค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณเท่าไหร่โดยคิดจากมูลค่าของเงิน ณ ปัจจุบัน เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟ ค่ารักษาพยาบาล ประมาณการณ์แบบคร่าว ๆ เผื่อเหลือเผื่อขาด จากนั้น ให้เราคำนวณว่า เงินจำนวนนี้มีมูลค่าเท่าไหร่เมื่อตอนเราเกษียณ โดยคิดตามอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยซึ่งมีค่าประมาณ 3-4 % ต่อปี คิดตามระยะเวลาเป็นปีที่เราเหลือในการออมเงิน มีสูตรคำนวณที่พวกเราสามารถค้นหาได้ครับ (หรือใช้ฟังก์ชั่น =FV(rate,nper,pmt,pv) ใน Excel ผมจะยกตัวอย่างการแทนค่าตอนท้ายครับ)
       ยกตัวอย่าง สมมติ ผมจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี ต้องมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนคิดเป็นมูลค่าของเงินในปัจจุบันเท่ากับ 20,000 บาท และผมเหลือเวลาออมเงินอีก 30 ปี สมมติอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเท่ากับ 3 % ต่อปี เงินจำนวน 20,000 บาท ณ ปัจจุบันผมคำนวณแล้วจะมีมูลค่าเทียบเท่ากับเงินจำนวน 48,545 บาท ในอีก 30 ปีข้างหน้า จากนั้นผมจะนำเอาเงินจำนวนนี้คูณด้วย 12 จะได้เป็นค่าใช้จ่ายต่อปีในช่วงเวลาที่ผมเกษียณ ซึ่งจะได้เท่ากับ 48,545 x 12 = 582,540 บาทต่อปี จากนั้นผมจะคำนวณว่าเงิน 582,540 บาท เป็นกี่เปอร์เซ็นของเงินจำนวนใดบ้าง ซึ่งหมายความว่า ผมจะหาเงินก้อนนั้นให้ได้เพื่อให้มันสร้างผลตอบแทนต่อปีเท่ากับ 582,540 บาทอย่างนั้นไปเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น 
          เงิน 582,540 บาท เป็น 10% ของเงินจำนวน 5,825,400 บาท
          เงิน 582,540 บาท เป็น 7%   ของเงินจำนวน 8,322,200 บาท
          เงิน 582,540 บาท เป็น 5%   ของเงินจำนวน 11,650,800 บาท
          เงิน 582,540 บาท เป็น 3%   ของเงินจำนวน 19,418,000 บาท
     ตอนนี้ผมได้เงินเป้าหมายที่ผมจะต้องออมให้ได้แล้ว หลายคนคงจะตั้งคำถามว่าแล้วเราจะเลือกเงินจำนวนไหนเป็นเป้าหมายในการออม  ผมแนะนำว่าเราก็ลองประเมินตัวเองดูว่า ในตอนเกษียณ เรามีความสามารถสร้างผลตอบแทนได้กี่เปอร์เซ็นต์ เช่น ถ้าคิดว่าสามารถสร้างผลตอบแทนได้ 10 % ต่อปี ก็เลือกเป้าหมายของเงินออมคือ 5,825,400 บาท ตรงนี้ผมอยากจะแนะนำว่าเราควรศึกษาหาความรู้ในแต่ละการลงทุนว่ามันสามารถสร้างผลตอบแทนได้เท่าไหร่ มีความเสี่ยงเป็นอย่างไรเพราะยิ่งผลตอบแทนสูงความเสี่ยงก็จะสูงตามไปด้วย เราสามารถรับกับความเสี่ยงนั้นได้มากน้อยแค่ไหน แล้วจึงเลือกลงทุนในการลงทุนนั้น ๆ ในแต่ละการลงทุนจะได้รับผลตอบแทนแตกต่างกัน ผมขอยกตัวอย่างดังนี้
          เงินฝาก ได้ผลตอบแทนสูงสุด ประมาณ 3 % ต่อปี
          พันธบัตร ประกันชีวิต ได้ผลตอบแทนสูงสุด ประมาณ 5 % ต่อปี
          ตราสารหนี้ เช่น หุ้นกู้ ได้ผลตอบแทนสูงสุด ประมาณ 6-7 % ต่อปี
          หุ้นสามัญ อาจได้ผลตอบแทนสูงสุดหลายร้อย หรือ เป็นพันเปอร์เซ็นต์ต่อปีแต่โดยเฉลี่ยแล้วได้ผลตอบแทนสูงสุดประมาณ 10 % ต่อปี
    
          จริง ๆ แล้วมีการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงได้ผลตอบแทนสูงที่เรียกว่า ตราสารอนุพันธ์ ผมไม่ค่อยอยากจะเรียกว่าการลงทุน มันคือการเก็งกำไรเสียมากกว่า ลักษณะของมันคล้าย ๆ การพนันที่ถูกกฎหมาย ผมไม่แนะนำถ้าใครไม่ได้ศึกษามาเป็นอย่างดี แม้แต่ตัวผมเองที่ศึกษาจนเข้าใจลึกซึ้งถึงวิธีการลงทุนและวิธีการที่จะได้ผลตอบแทนจำนวนมากผมยังไม่กล้าเข้าไปเสี่ยง มีการลงทุนอื่น ๆ อีก เช่น อสังหาริมทรัพย์ให้เช่า หรือ ทองคำ อันนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่สนใจและมีความรู้เรื่องนี้ หรือแม้แต่การลงทุนในกิจการของตนเองนอกเหนือจากงานประจำที่กิจการนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนให้เราได้ตลอดและมูลค่าของตัวกิจการเองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่เราอาจจะไม่ต้องใช้เวลาดูแลมากเป็นอีกการลงทุนที่น่าสนใจสามารถทำได้เช่นกัน แต่การลงทุนเหล่านี้ผมไม่สามารถคำนวณผลตอบแทนและมูลค่าของมันได้ใกล้เคียงความเป็นจริงในทุกกรณี ผมจึงขอกล่าวถึงเฉพาะการลงทุนที่ทราบผลตอบแทนชัดเจนก็แล้วกัน
      ตอนนี้ผมจะตอบคำถามแรกที่ถามว่าจะออมเงินเท่าไหร่ดี ถ้าใครยังจำได้ ผมเคยเล่าเรื่องผลตอบแทนแบบทบต้น ถึงตรงนี้ผมจะนำมันมาใช้ประโยชน์ สมมติว่า ตอนเกษียณผมเลือกการฝากเงินเพื่อให้ได้ดอกเบี้ย 3 % ต่อปี ดังนั้นผมจะต้องออมเงินให้ได้ 19,418,000 บาท และผมจะลงทุนในหุ้นตั้งแต่ตอนนี้ตั้งเป้าหมายให้ได้ผลตอบแทน 10 % ต่อปีแบบทบต้น ใช้เวลาลงทุน 30 ปี

เพื่อให้ง่ายต่อการคำนวนผมจะใช้ฟังก์ชั่น =PMT(rate,nper,pv,fv) ใน Excel
ก่อนจะใส่ค่าผมขออธิบายความหมายของแต่ละตัวก่อนครับ
fv คือ future value ในที่นี้คือ มูลค่าของเงินในอนาคต
pv คือ present value ในที่นี้คือ มูลค่าของเงินในปัจจุบัน
rate คือ อัตราผลตอบแทนที่ได้รับต่อปีในอัตราที่เท่ากันตลอดทุกปี โดยคิดแบบทบต้น หรือ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปีโดยคิดแบบทบต้นหากใช้คำนวณหาค่าเงินในอนาคต
nper คือ number of period ในที่นี้คือ จำนวนปีที่ลงทุน หรือ จำนวนปีที่ต้องการคำนวณค่าเงินในอนาคต
pmt คือ periodic payment ในที่นี้คือ จำนวนเงินลงทุนที่ใส่เพิ่มไปในแต่ละปีเป็นจำนวนเท่ากันทุกปีที่ลงทุน
         แทนค่าจะได้ rate = 0.1 (=10%), nper = 30, pv = 0, fv = -19,418,000 (ค่า pv กับ fv ให้ใส่ค่าลบลงไปในสูตรครับ ค่าที่ไม่ทราบให้ใส่ 0 ครับ) ดังนั้นเราจะได้การแทนค่าในสูตรตามนี้นี้ครับ
          = PMT(0.1,30,0,-19418000)
      ให้พิมพ์ดังตัวอย่างเข้าไปใน Excel แล้วกด enter จะได้ค่าออกมา ในกรณีนี้ ได้ค่า 118,046.84 บาท ซึ่งก็คือเงินออมที่ต้องใส่เพิ่มเข้าไปในแต่ละปี เมือนำมาคิดต่อเดือน จะได้
          118,046.84/12 = 9,837.24 บาทต่อเดือน
          สรุปก็คือ หากเราต้องการใช้เงินตอนเกษียณ เดือนละ 20,000 บาท (ค่าเงิน ณ ปัจจุบัน) ซึ่งเทียบเท่ากับเงิน 48,545 บาท ในอีก 30 ปี ข้างหน้า (คิดที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 3% ต่อปี) จะต้องมีเงินออม 19,418,000 บาท และนำไปฝากธนาคารหรือลงทุนแล้วได้ผลตอบแทน 3% ต่อปี ซึ่งต้องออมเงิน เดือนละ 9,837 บาท เป็นเวลา 30 ปี และสร้างผลตอบแทนให้ได้ 10% ต่อปีแบบทบต้น
(หมายเหตุ การคำนวณหาค่าเงินในอนาคตใช้หลักการเดียวกันโดยให้ใส่ค่า pmt เป็น 0 และ ใส่ค่า pv เป็นลบก็จะได้ค่าดังตัวอย่างครับ)
     
     นี่คือตัวอย่างการคำนวนเงินออมที่อาจจะดูยุ่งยากสักหน่อย ลองพยายามดูนะครับ ผมคิดว่าไม่ยากเกินไป ใครอ่านจนจบผมนับถือจริง ๆ เพราะมันยาวมากที่สุดเท่าที่ผมเคยเขียนมา ยังไงผมก็เอาใจช่วยคนที่ตั้งใจออมเงินนะครับ อีกยี่สิบสามสิบปีข้างหน้าเราจะมีเศรษฐีใหม่อีกมากมาย ซึ่งก็คือพวกเราที่รักการออมนั่นเอง ครับผม


    




ไม่มีความคิดเห็น: