ในบางโรงพยาบาลของรัฐเรามักจะพบว่าคนไข้ที่ต้องนอนโรงพยาบาลหลายคนจำเป็นที่จะต้องนอนเตียงเสริม นอนตรงทางเดิน หรืออาจต้องนอนที่ห้องฉุกเฉิน ส่วนใหญ่ก็ต้องยอมเพราะต้องการที่จะรักษาที่โรงพยาบาล หลายคนอาจจะคิดว่าการนอนโรงพยาบาลมีความปลอดภัยและได้รับการช่วยเหลือหากมีอาการแย่ลงจะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงที ความคิดนี้เป็นจริงอยู่ไม่น้อยและคนไข้รอดชีวิตจากอาการที่แย่ลงจำนวนมากเช่นกัน ผมไม่ปฏิเสธคนไข้ที่อยากจะนอนโรงพยาบาลโดยที่หมอเห็นว่าไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่เราควรจะคิดเสมอว่าในข้อดีของการนอนโรงพยาบาลก็มีข้อเสียอยู่ไม่น้อยเช่นกัน เรื่องแรกแน่นอนที่ต้องเจอคือความไม่สะดวกสบายเหมือนบ้านของเราและอาจจำเป็นที่จะต้องนอนตามทางเดิน ระเบียง หรือในห้องฉุกเฉิน ตรงนี้เราต้องถามตัวเองว่าเรารับกับสภาพเช่นนี้ได้หรือไม่ จริง ๆ แล้วถึงเราจะรับกับสภาพเช่นนี้ได้ แต่คำถามคือว่าจะมีที่ว่างให้สำหรับเตียงเราหรือไม่ บางคนอาจจะโชคดีได้เตียงห้องพิเศษหรือเตียงห้องสามัญแต่โอกาสเช่นนี้เป็นไปได้น้อยมาก อีกเรื่องที่สำคัญต่อมาถึงแม้ว่าเราจะได้เตียงนอนแล้วก็ตามคือการได้รับเชื้อโรคที่อยู่ในโรงพยาบาลที่อาจจะรุนแรงกว่าเชื้อโรคทั่วไปและมักจะพบว่าเชื้อโรคเหล่านั้นมีการดื้อยาจำนวนมากเราต้องชั่งน้ำหนักตรงนี้ด้วยว่าคุ้มกับความเสี่ยงหรือไม่
คนไข้หลายคนเลือกที่จะรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนเนื่องจากไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายหรืออาจใช้สิทธิประกันสุขภาพของบริษัทประกันชีวิตที่ได้ทำไว้ ผมพบว่าอาการของคนไข้ในบางครั้งไม่ได้จำเป็นที่ต้องนอนโรงพยาบาลแต่คนไข้ต้องการนอนโรงพยาบาลเพื่อใช้สิทธิประกันสุขภาพไม่น้อยเลยทีเดียว เรื่องนี้ผมคิดว่า การใช้สิทธิตรงนี้อยากให้ใช้อย่างเหมาะสมเพราะการพิจารณาการจ่ายค่ารักษาไม่ใช่หมอที่ทำการรักษาเราแต่เป็นหมอของบริษัทที่เราทำประกันสุขภาพต่างหาก ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ที่หมอสองคนจะมีความเห็นไม่ตรงกันและเห็นว่าเป็นโรคที่ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลได้เช่นกันหากเป็นเช่นนั้นเราจะยอมรับกับค่ารักษาพยาบาลได้หรือไม่ นี่เป็นคำถามที่เราควรจะตอบกับตัวเองตั้งแต่แรก ๆ
ในส่วนการรักษาโดยการให้น้ำเกลือและนอนโรงพยาบาลนั้นมีส่วนสำคัญที่ช่วยเรื่องอาการไข้ของคนไข้ เนื่องจากคนที่มีไข้มักจะมีภาวะขาดน้ำในร่างกายร่วมด้วย แต่ในการที่หมอเลือกให้น้ำเกลือกับคนไข้จะพิจารณาหลาย ๆ ประเด็นร่วมกัน บางครั้งการให้น้ำเกลืออาจไม่จำเป็นหากคนไข้คนนั้นสามารถดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้เป็นอย่างดี คนไข้หลายคนมักจะคิดว่าการให้น้ำเกลือช่วยทำให้อาการอ่อนเพลียดีขึ้นและอาจจะช่วยเหลือคนที่เบื่ออาหารและรับประทานได้น้อยได้อีกด้วย ความคิดของเขาเหล่านั้นไม่ผิดเสียทีเดียว ซึ่งน้ำเกลือส่วนใหญ่ก็จะมีน้ำกับเกลือหรือสารประกอบอื่น ๆ ที่ทำให้มีความเข้มข้นเท่ากับเลือดเพื่อให้ไม่เกิดความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกายและทำให้เม็ดเลือดไม่แตกหรือเกิดความผิดปกติหากความเข้มข้นต่างจากในเลือด หลายชนิดมีน้ำตาลผสมอยู่ด้วย อาจจะมีส่วนช่วยคนไข้ที่รับประทานได้น้อยหรือไม่ได้รับประทานอาหารซึ่งให้ได้ในเวลาไม่นาน ข้อเสียของน้ำเกลือก็มีไม่น้อยเช่นกันหากเป็นการให้น้ำเกลือที่มากเกินไปก็อาจมีการคั่งอยู่ในร่างกาย ปัญหาที่พบบ่อยคือน้ำท่วมปอดในคนที่เป็นโรคหัวใจหรือเป็นโรคไตซึ่งเป็นความผิดปกติของการสูบฉีดเลือดและการขับน้ำออกจากร่างกาย หมอจึงพิจารณาการให้น้ำเกลือตามความจำเป็นในคนไข้แต่ละราย
อาการไข้ส่วนใหญ่มักจะพบว่าเกิดจากการติดเซื้อ ซึ่งเชื้อก่อโรคมีหลายชนิด ได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา โปรโตซัว และพยาธิต่าง ๆ แต่ละชนิดจะมียารักษาโรคแตกต่างกันออกไป ซึ่งยากลุ่มนี้จะเรียกว่า ยาปฏิชีวนะ ยารักษาการติดเชื้อไวรัสก็จะมียารักษาการติดเชื้อไวรัสเฉพาะบางตัว บางกลุ่ม เช่น ยารักษาไวรัสเอชไอวี ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริม หรืองูสวัด ไวรัสตับอักเสบ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น การติดเชื้อไวรัสส่วนใหญ่ร่างกายมักจะสามารถรักษาตัวเองและหายได้เอง บางชนิดยังมีการสร้างภูมิคุ้มกันอีกด้วย มีเชื้อไวรัสบางชนิดเท่านั้นซึ่งพบได้ไม่บ่อยที่ทำให้เกิดโรคอย่างฉับพลันและถึงขั้นเสียชีวิตก่อนที่ร่างกายจะสามารถต่อต้านหรือสร้างภูมิคุ้มกันได้ทัน การเลือกให้ยารักษาการติดเชื้อไวรัสจึงเลือกใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแน่ชัดหรือจากผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ช่วยยืนยัน ส่วนอาการไข้ที่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่มักจะทำให้เกิดอาการที่รุนแรงกว่าการติดเชื้อแบบอื่น ๆ และเชื้อบางชนิดอาจทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว และด้วยเหตุที่ยาที่ใช้ในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียมีมากมายจึงทำให้แพทย์ส่วนใหญ่เลือกที่จะให้ยาที่รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่คิดถึงมากที่สุดเป็นลำดับแรก ๆ ในการรักษาอาการไข้ที่อาจจะยังไม่มีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันซึ่งจะเป็นการรักษาเพื่อที่จะลดความรุนแรงของโรคในช่วงแรกของการรักษา และส่วนใหญ่ของอาการไข้จากการติดเชื้อก็มักจะเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียเช่นกัน แม้ในบางครั้งผลการตรวจที่ได้มาภายหลังจะบ่งชี้ว่าเป็นการติดเชื้อกลุ่มอื่น ๆ ก็ตาม ส่วนการติดเชื้อรา พยาธิ หรือโปรโตซัว พบน้อยกว่ามาก และยังพอมีเวลาในการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อช่วยในการวินิจฉัย
การรักษาอาการไข้ด้วยยามีการให้ยาหลายวิธีด้วยกันที่เรารู้จักและใช้บ่อย ๆ ได้แก่ ยากิน และยาฉีด คนไข้หลายคนคิดว่าการฉีดยาจะทำให้โรคที่เป็นหายได้เร็วกว่า เรื่องนี้มีส่วนจริงในบางโรคแต่บางโรคการกินยากับการฉีดยาผลการรักษาไม่ได้ต่างกัน ในบางครั้งการให้ยากินที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อที่ดีกว่ายาฉีดให้ผลในการรักษาดีกว่าด้วยซ้ำไป เรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับชนิดและประสิทธิภาพของยาที่ได้รับมากกว่า นอกจากนี้สิ่งที่ผมอยากจะบอกเรื่องยาบางชนิดที่เป็นยาช่วยรักษาอาการต่าง ๆ เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้เจ็บคอ ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก เป็นต้น ยาเหล่านี้เป็นยาช่วยบรรเทาอาการไม่ได้ช่วยในการักษาโรคให้หายขาด จริง ๆ แล้วการรักษาโรคขึ้นอยู่กับว่าหมอให้ยาที่ทำให้สาเหตุของโรคหมดไปหรือไม่ซึ่งถ้าเป็นการติดเชื้อยาหลักจึงเป็นยาปฏิชีวนะ ยาที่ช่วยบรรเทาอาการจึงไม่ได้ทำให้อาการของโรคที่เราเป็นอยู่หายไปแต่อย่างใด ในเรื่องนี้ผมขอให้เรามั่นใจในหมอที่รักษาในการเลือกยาและวิธีการให้ยาและดูแลตัวเองตามคำแนะนำ เราสามารถสอบถามหมอที่รักษาเราได้ด้วยการสื่อสารที่เป็นมิตร หากอาการยังไม่ดีขึ้นขอให้เรากลับไปตรวจซ้ำได้ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำหนิหรือถูกดุด่าว่ากล่าว นี่คือสิ่งที่เราควรทำ
อีกเรื่องที่ผมพบและอาจเป็นเรื่องที่ทำให้หมอบางท่านไม่พอใจได้คือการที่คนไข้ขอยาหรือสั่งให้แพทย์สั่งยาตามที่ต้องการ เรื่องนี้หมอหลายคนอาจทำตาม หมอหลายคนดุคนไข้ หรือพูดจาที่ไม่เป็นมิตร หมอที่ดุคนไข้หรือพูดจาที่ไม่เป็นมิตรอาจมีความรู้สึกเป็นตัวของตัวเองสูงหรือที่เรียกว่ามีอีโก้สูง และมีความคิดว่าการรักษาจะต้องเป็นตัวเขาเท่านั้นที่จะเป็นคนสั่งจึงเกิดความไม่พอใจขึ้นได้ ผมจึงมีข้อแนะนำว่า ในเมื่อเราไว้วางใจให้หมอท่านรักษาก็ให้ท่านตัดสินใจเรื่องการสั่งยาจะดีกว่า หากเราจะสั่งยาเองผมว่าเราไปซื้อยาเองที่ร้านขายยาน่าจะดีกว่าโดนดุนะครับ เล่าเรื่องยาวอีกแล้วครับท่าน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น