วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

หนังสือ "อิสรภาพบนเส้นบรรทัด 13 นักโทษประหาร" (10-11 เม.ย. 2555)

    

     ผมนั่งอ่านหนังสือ "อิสรภาพบนเส้นบรรทัด 13 นักโทษประหาร" ได้ข้อคิดอะไรบางอย่าง เรื่องราวในหนังสือเป็นงานเขียนของนักโทษประหาร หลายเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเป็น "แพะ" มีทั้งเรื่องของคนอื่นและเรื่องราวของตนเอง ซึ่งก็คือตนเองไม่ได้ทำผิดแต่ต้องมารับโทษ มีบางคนต้องถูกประหารชีวิตทั้งที่ตนเองไม่ได้ทำความผิด สามร้อยกว่าชีวิตที่ถูกประหารด้วยวีธียิงเป้าจนมาถึงการฉีดสารพิษเข้าเส้นเลือดในปัจจุบัน ไม่รู้ว่ามีผู้บริสุทธิ์เท่าไหรที่ต้องตายทั้งที่ไม่ได้ทำความผิด สิ่งที่ผมนึกถึงได้อย่างหนึ่งคือ แม้ว่าใครก็ตามไม่ได้ทำผิดกฎหมายบ้านเมืองถึงขั้นต้องติดคุกติดตารางหรือถึงขั้นประหารชีวิต แต่สิ่งทีได้รับที่เรียกว่าเป็น "แพะ" จนต้องรับโทษนั้น มันอาจเป็นเวร เป็นกรรมที่ได้ทำไว้ ไม่ว่ากับใครหรือสิ่งไหนก็เป็นได้ ผมคิดว่าเราทุกคนมีความเสี่ยงเป็น "แพะ" ได้โดยที่เราไม่รู้ตัว พึงทำความดีไว้เถิด ผมเชื่อว่า ความดีจะช่วยปกป้องภยันตรายใหญ่หลวงที่พวกเราจะได้รับ
     นอกจากนี้ผมได้ค้นหาว่า ก่อนที่นักโทษจะถูกประหารชีวิตมีขั้นตอนอะไรบ้าง ผมได้พบกับคำกล่าวของ "พระนักเทศน์นักโทษประหาร" เป็นฉายาที่ พระมหานันทา นนฺทปญฺโญฺ เจ้าอาวาสวัดบางแพรกใต้ อ.เมือง จ.นนทบุรี ได้รับ ท่านกล่าวไว้ว่า สิ่งที่นักโทษประหารมีเหนือกว่าคนปกติทั่วๆ ไป คือ ตายแบบรู้ตัวรู้วันเวลา ปกติแล้วคนทั่วๆ จะตายแบบไม่รู้ตัว หรือเรียกว่าตายแบบไม่มีสติ แต่นักโทษประหารตายอย่างมีสติ รู้กำหนดลมหายใจจะสิ้นเมื่อไร การที่รู้ตัวก่อนตายทำให้สามารถเตรียมตัวก่อนตาย สามารถทำกิจอะไรก่อนตายได้ เขียนจดหมายบอกลา ฝากคำพูด และแบ่งทรัพย์สมบัติได้ ส่วนคนที่ตายแบบไม่รู้ตัวเลยนั้น ร้อยทั้งร้อยไม่เคยเตรียมอะไรไว้เลย ดังนั้นคนเราจึงควรตั้งชีวิตอยู่บนความไม่ประมาทเพราะความตายเปรียบเสมือนเงาที่ตามตัวเราตลอดเวลา" และท่านยังกล่าวอีกว่า "เหตุของการตายไม่ใช่เครื่องบ่งชี้ว่าจะได้ขึ้น สวรรค์หรือตกนรก แต่มันอยู่ที่การกำหนดจิตก่อนชีวิตจะดับ เมื่อจิตของเราผ่องใส จิตมีสติ สุคติเป็นที่หวังในเบื้องหน้าดังพระบาลีว่า จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา เมื่อจิตไม่เศร้าหมองสุคติเป็นที่หวังได้" นี่ทำให้ผมคิดถึง "มรณานุสติ" ที่ให้เรานึกถึงความตายเป็นอารมณ์ จะทำให้เราตั้งอยู่ในความไม่ประมาท

ไม่มีความคิดเห็น: