วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

อาการปวดศีรษะ (17 ก.ย. 2555)


     ผมมีอาการปวดศีรษะบ่อย ๆ เป็น ๆ หาย ๆ อยู่หลายปี ตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นนักศึกษาเเพทย์ ตอนเเรกไม่ทราบว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เคยคิดเหมือนกันว่าตนเองจะเป็นโรคร้ายแรงอะไรหรือเปล่า ที่น่ากลัวโรคหนึ่งคือ เนื้องอกในสมอง แต่เมื่อลองพิจารณาสาเหตุของโรคและการสังเกตด้วยตัวเองจึงพบว่า ผมสายตาสั้น ทำให้ต้องเพ่งอย่างมากเพื่อจะมองให้ชัดในระยะไกลหรือตอนนั่งฟังบรรยายหรือการนำเสนองานวิชาการจนรู้สึกปวดศีรษะมากเวลาใช้สายตา ทั้ง ๆ ที่ผมเคยมองชัดเจนมาตลอดตั้งแต่เด็กจนอายุ 20 กว่าปี และครอบครัวก็ไม่มีใครสายตาสั้นมาก่อน สาเหตุหนึ่งผมคิดว่าเนื่องมาจากผมใช้สายตาจ้องจอคอมพิวเตอร์อย่างหนักทั้งทำงานและเล่นเกมส์ตอนที่เป็นนักศึกษาแพทย์ กว่าจะได้มาตรวจสายตาเวลามันล่วงเลยมาถึงตอนทำงานแล้วในปีที่ 3 มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้วผมขับรถชนด้านข้างของรถกระบะที่วิ่งผ่านสี่แยกในโรงพยาบาล โดยที่ผมไม่ทันได้มอง ผมคิดว่าสาเหตุคงเป็นจากเรื่องสายตาสั้นด้วยอย่างแน่นอน ตอนนั้นต้องใช้เวลาซ่อมรถตัวเองประมาณ 1 เดือน และต้องซ่อมให้กับรถกระบะคันนั้นอีกด้วย ตั้งแต่วันนั้นทำให้ผมเริ่มสนใจกับสายตาของตัวเองมากขึ้น ผมจึงไปวัดสายตาและพบว่าสายตาสั้นจำเป็นต้องตัดแว่นสายตา หลังจากใส่แว่นตาใหม่ผมมองโลกรอบ ๆ กายมันช่างคมชัดเสียจริงราวกับว่าเป็นโลกใหม่ที่แสนจะสดใส อาการปวดศีรษะที่ผมเป็นอยู่มันหายไปโดยปริยาย ช่วงปีสองปีก่อนผมมีอาการปวดศีรษะอีกเล็กน้อย ผมพบว่าสายตาผมสั้นลงจึงต้องเปลี่ยนแว่นตาใหม่ อาการปวดจึงหายไป อาจจะมีอาการปวดบ้างเวลานอนดึกแต่ต้องตื่นเช้า แต่พอได้นอนเต็มที่อาการจะดีขึ้น หรือเวลาอยู่ในบริเวณที่มีอากาศร้อน หรือเวลาไม่สบายแต่เมื่อสาเหตุเหล่านั้นหายไปอาการจะดีขึ้นได้เอง
     ผมเล่าเรื่องอาการปวดศีรษะของตัวเองเนื่องจากเรื่องเล่าต่อไปจากนี้จะเป็นเรื่องของอาการปวดศีรษะที่ผมคิดว่าคนที่อ่านเรื่องของผมต้องเคยมีประสบการณ์ปวดศีรษะมาก่อนอย่างแน่นอน อาการนี้เราเรียกกันง่าย ๆ ว่า ปวดหัว คนไข้ที่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดศีรษะส่วนใหญ่เนื่องมาจากอาการปวดที่เป็นอยู่ไม่ดีขึ้นเมื่อทำการพักหรือรับประทานยาแก้ปวดหรือบางคนอาจมีอาการปวดมากขึ้นมาทันทีและมีความทุกข์ทรมานจนทนไม่ไหว หลายคนมีความเป็นกังวลมากกับอาการปวดของตนเองกลัวว่าจะเป็นโรคร้ายแรง อย่างเช่น เลือดออกในสมอง เนื้องอกในสมองอย่างที่ผมกล่าวมา ผมคิดว่า อาการกังวลของเขาเหล่านั้นไม่ผิดเสียทีเดียว บ่อยครั้งผมพบว่าเป็นอย่างที่คนไข้สงสัย และทำให้หมอที่ตรวจถึงกับเสียความมั่นใจเลยทีเดียว แต่ถึงอย่างไรก็ตามมีโรคที่เป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะที่พบบ่อยกว่าโรคดังกล่าวมาก เรามาดูกันว่าเรื่องราวเป็นอย่างไรบ้าง
     อาการปวดศีรษะเกิดจากการรับรู้ความเจ็บปวดของสมองส่วนที่ทำหน้าที่รับความรู้สึก ซึ่งมีการรับสัญญานความเจ็บปวดจากบริเวณต่าง ๆ ของศีรษะผ่านทางเส้นประสาทรับความรู้สึก ดังนั้นเวลาเกิดความเจ็บป่วยหรือเกิดปัญหาขึ้นกับอวัยวะที่เป็นส่วนประกอบของศีรษะหรือหัวของเรา สัญญาณความเจ็บปวดที่ถูกส่งไปยังสมองจะได้รับการแปลความหมายเป็นความเจ็บปวดตามบริเวณต่าง ๆ เหล่านั้น ซึ่งอาจจะมีการแปลความหมายเป็นอาการปวดบริเวณใกล้เคียงหรือเป็นลักษณะอาการปวดร้าวได้เช่นกัน ดังนั้นเวลาหมอที่ตรวจจะให้การวินิจฉัยโรคส่วนหนึ่งจะคิดถึงสาเหตุตามอวัยวะของศีรษะที่คนไข้ปวด เต่ยังมีการวินิจฉัยที่หมออาจคิดถึงโรคตามกลุ่มโรคที่เป็นไปได้เช่น เนื้องอกของอวัยวะบริเวณศีรษะ อุบัติเหตุที่ศีรษะ การติดเชื้อ โรคหลอดเลือดสมอง และ ความผิดปกติของเลือด เป็นต้น
     โรคที่พบบ่อยในคนไข้ที่มาด้วยอาการปวดศีรษะร้อยละ 80-90 พบว่าเกิดจากโรคปวดศีรษะจากความเครียด (Tension Headache) อาการปวดศีรษะจากความเครียด เป็นภาวะที่พบได้บ่อยมากในคนทั่วไป โดยมีสาเหตุมาจากความเครียด พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งสาเหตุมีหลายอย่าง เช่น ทำงานหนัก ใช้สมองมาก อารมณ์เครียด กังวลใจหรือ นอนหลับไม่เพียงพอ เป็นต้น ทำให้มีอาการปวดตึงของกล้ามเนื้อตรงต้นคอและรอบ ๆ ศีรษะ และเกิดอาการปวดศีรษะตามมา แต่โรคนี้หมอที่ตรวจควรต้องตรวจหาว่าไม่ใช่โรคร้ายแรงอื่น ๆ ออกไปก่อนจึงจะให้การวินิจฉัยโรคนี้ได้ ด้วยเหตุที่โรคนี้เป็นโรคที่ไม่รุนแรง เมื่อได้รับการพักผ่อน หรือรับประทานยาลดอาการปวด อาการจะดีขึ้น แม้ว่าโรคนี้จะพบบ่อยและเป็นโรคที่ถูกวินิจฉัยมากที่สุด แต่ยังมีโรคที่เหลือที่พบน้อยกว่ามากและเป็นโรคที่รุนแรงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจทางรังสีวิทยาตามข้อบ่งชี้ จึงมีส่วนสำคัญในการช่วยในการวินิจฉัยเช่นกัน
     ในส่วนการตรวจร่างกายคนไข้ที่มาด้วยอาการปวดศีรษะ การตรวจที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการตรวจระบบประสาท ซึ่งมีทั้งการตรวจกำลังของกล้ามเนื้อ การรับความรู้สึก การตรวจปฏิกิริยาการสะท้อนกลับหรือที่เรียกว่า รีเฟล็กซ์ และมีการตรวจร่างกายของระบบประสาทในรูปแบบอื่น ๆ อีกมากตามอาการของโรคตามที่หมอที่ตรวจสงสัย ผมคิดว่าการตรวจร่างกายของหมอกับคนไข้ที่มาด้วยอาการปวดศีรษะหลายครั้งยังขาดการตรวจระบบประสาทที่สำคัญ หลายโรคสามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจระบบประสาทอย่างละเอียด ด้วยเหตุผลของจำนวนคนไข้ที่มากในโรงพยาบาลของรัฐทำให้การระบบประสาทขาดหายไปและเนื่องจากการตรวจร่างกายในระบบนี้จะต้องใช้เวลาในการตรวจที่นานจึงทำให้บางครั้งอาจเกิดการวินิจฉัยที่ไม่ตรงกับโรคที่ผู้ป่วยเป็น ในโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะจะถูกตรวจโดยแพทย์เฉพาะทางโรคระบบประสาทและสมอง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการวินิจฉัยโรคและการตรวจร่างกายของระบบประสาท นอกจากจากนี้ยังมีเวลาในการตรวจมากกว่าแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ ทำให้คนไข้กลุ่มนี้มีโอกาสในการค้นพบโรคที่ตนเองเป็นได้มากกว่าแต่ก็ต้องแลกกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ผมคิดว่าการตรวจที่มีข้อจำกัดเป็นอุปสรรคสำคัญในการให้การวินิจฉัยโรค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเวลา เรื่องประสบการณ์ของหมอหรือเรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่องก็ตาม แต่การจะแก้ปัญหานี้จำเป็นต้องมีจำนวนหมอที่ทำการตรวจรักษาเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งขณะนี้เป็นเรื่องยากที่จะมีการผลิตแพทย์เพิ่มด้วยเหตุผลหลายประการ
     แม้ว่าหมอที่ตรวจจะพบกับอุปสรรคหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานหนัก มีเวลาตรวจคนไข้แต่ละคนน้อย แต่หมอที่ตรวจทุกคนมีความตั้งใจดีและหวังเป็นอย่างยิ่งที่อยากจะให้คนไข้ของตนเองหายจากโรค สิ่งที่ทำให้กับคนไข้ ส่วนหนึ่งคืองานที่ต้องทำ อีกส่วนหนึ่งเป็นความรู้สึกที่อยากจะมอบสิ่งดี ๆ ให้กับใคร ๆ หลาย ๆ คน โดยที่หมอจะได้รับการเรียกว่าเป็น หมอเจ้าของไข้ แม้ว่าหมอคนนั้นจะความรู้น้อย ด้อยประสบการณ์ เวลาตรวจไม่ค่อยมี แต่สิ่งที่มีให้มันคือความปรารถนาดีต่อคนไข้เสมอ ผมคิดว่า หมอที่ตรวจทุกคนมีความภาคภูมิใจในการช่วยเหลือชีวิตคน สิ่งนี้มันอยู่ในความรู้สึกของพวกเราตลอดมา และมันเป็นสิ่งที่จะทำให้พวกเราทำสิ่งดี ๆ ให้กับคนไข้ตลอดไป
     ยังมีเรื่องการตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์และการตรวจทางรังสีวิทยา ไว้ผมจะเล่าให้ฟังครั้งต่อไปนะครับ

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

มีประโยชน์มากเลยครับ

SURASAK กล่าวว่า...

ขอบคุณมากครับ