ผมเคยตั้งใจไว้ว่าสักวันหนึ่งผมจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับความคิดและความรู้สึกของหมอในการรักษาคนไข้แต่ละคนแต่ละอาการของโรคให้กับใครต่อใครฟัง ผมรับทราบเรื่องราวที่เกี่ยวกับสัมพันธภาพระหว่างหมอกับคนไข้มากมายทั้งในด้านดีที่แต่ละฝ่ายมีความสุขด้วยกันทั้งคู่ และในด้านไม่ดีหรือด้านลบที่ทั้งสองฝ่ายเป็นปรปักษ์ต่อกัน สัมพันธภาพในด้านดีที่ได้รับรู้หลายครั้งทำให้ผมรู้สึกภาคภูมิใจไปกับคุณหมอท่านนั้นด้วยที่ทำให้คนไข้หายจากโรค หรือแม้บางครั้งโรคของคนไข้คนนั้นรักษาไม่หายขาดหรือเป็นระยะสุดท้ายของโรคแต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายยังดีเช่นเดิม ผมชื่นชมในความสามารถของหมอท่านนั้นและดีใจกับคนไข้ของท่านด้วยที่ท่านทำให้เขามีความสุขแม้บางคนอาจจะรู้ว่าช่วงเวลาสุดท้ายของเขาเหลืออีกไม่นานก็ตาม
ในส่วนสัมพันธภาพในด้านลบนั้นหลายครั้งเท่าที่ผมทราบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความไม่พอใจในการแสดงออกของหมอท่านนั้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลกับคนไข้ การพูดคุย กิริยาท่าทางที่แสดงออกมา มีบางส่วนที่พูดถึงเรื่องการรักษาที่คนไข้ไม่หายจากโรคหรือความผิดพลาดในการรักษา ที่สำคัญคือความผิดพลาดนั้นทำให้เกิดความพิการหรือถึงขั้นสูญเสียชีวิต ซึ่งหากดูจากลำดับเหตุการณ์ระหว่างการรักษาแล้ว เรื่องความผิดพลาดในการรักษาจะเป็นประเด็นหลัง ๆ ที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ เรื่องราวการสูญเสียในการรักษาหลายครั้งอาจเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดโดยไม่มีใครรู้ว่ามันจะเกิด หมอบางท่านจึงคิดว่าไม่ใช่ความผิดของเขา แต่ ทำไมมันถึงเกิดขึ้น เป็นคำถามที่ทั้งคนไข้ ญาติ หรือคนที่เกี่ยวข้องกับคนไข้เกิดความสงสัย สุดท้ายก็จะกล่าวโทษกับหมอที่รักษาซึ่งมักจะรวมเอาเหตุผลสนับสนุนอื่น ๆ อีกหลายเรื่องและมักจะเป็นเหตุผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิสัมพันธ์ในระหว่างการรักษา
สังคมไทยเป็นสังคมของการให้อภัย หากคนที่ทำผิดเกิดความรู้สึกผิดหรือสำนึกผิด และกล่าวคำขอโทษ เรามักจะทราบว่าคนคนนั้นจะได้รับการให้อภัย ที่ผมทราบหลายเรื่องเกี่ยวกับสัมพันธภาพในทางลบหลายครั้งคนไข้หรือญาติต้องการเพียงคำขอโทษ หรือ ความรู้สึกผิด หรือ ความรู้สึกเสียใจที่หมอมีให้กับคนไข้คนนั้น แต่ด้วยความที่บางท่านอาจจะบอกว่าไม่ผิดนี่เองทำให้คำขอโทษ หรือความรู้สึกผิดหรือเสียใจไม่ถูกแสดงออกมาจากหมอท่านนั้น เราจึงเห็นการเป็นปรปักษ์กันอยู่บ่อย ๆ ผมคิดว่าหลายครั้งปัญหาเหล่านี้มันเกิดมาจากการสื่อสารระหว่างหมอกับคนไข้หรือแม้แต่การสื่อสารของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์กับคนไข้ก็ตาม ผมถูกสอนในเรื่องเวชจริยศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม การสื่อสารมีส่วนสำคัญมากในเรื่องนี้ หลายครั้งการสื่อสารที่เต็มไปด้วยอารมณ์และความรู้สึกไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ไม่พอใจ เสียใจ เศร้า หรือความรู้สึกไม่ดีอื่น ๆ อาจเกิดผลที่ไม่ดีกับทั้งสองฝ่าย และด้วยความที่ต่างฝ่ายต่างยึดถือความคิดและความรู้สึกของตัวเองเป็นหลักจึงเป็นเหตุแห่งการเป็นปรปักษ์ในหลายประเด็น
ผมเป็นหมอคนหนึ่งที่อยากเห็นสัมพันธภาพที่ดีระหว่างคนไข้กับหมอ แต่ผมคงไม่สามารถทำให้หมอทุกคนสื่อสารกับคนไข้ให้ดี ไม่สามารถทำให้หมอทุกคนไม่ใช้อารมณ์ในการพูดคุย ไม่สามารถทำให้หมอทุกคนเก็บความรู้สึกไว้เวลาโกรธหรือไม่พอใจคนไข้ และไม่สามารถทำให้หมอทุกคนรักษาคนไข้ให้ดีที่สุดสำหรับการเจ็บป่วยนั้น ๆ แต่ผมสามารถบอกได้เลยว่าหมอทุกคนอยากให้คนไข้ที่ตนเองรักษาหายป่วยจากโรคที่เป็นอยู่ไม่ว่าหมอคนนั้นจะแสดงการกระทำ แสดงอารมณ์ หรือพูดคุยอย่างไรออกมาซึ่งผมเชื่อว่าหมอทุกคนคงเห็นไม่ต่างจากผม ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ผมอยากจะเล่าเรื่องความคิดและความรู้สึกของหมอว่าทำไมถึงตั้งคำถามนี้กับคนไข้ในการซักถามประวัติ ทำไมต้องตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ เหล่านั้น และทำไมต้องรักษาด้วยวิธีนั้น ๆ ผมจะเล่าให้ฟังต่อในครั้งต่อไป มีหลายตอนให้ติดตามครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น